ระยะเวลาสำหรับการซ่อมบำรุง ระยะเวลาด้านการบิน (Aviation Interval Time) หลักการสำหรับการกำหนดระยะเวลาด้านการบิน เพื่อให้ทราบถึงระยะเวลาของอากาศยาน เครื่องยนต์ หรือบริภัณฑ์ ซึ่งนำไปใช้กับการกำหนดระยะเวลาสำหรับการซ่อมบำรุงอากาศยาน โดยสามารถกำหนดระยะเวลาการบินได้ 2 ประเภท คือ ระยะเวลาปฏิทิน (Calendar Time) ระยะเวลาการทำงาน (Operational Time) 1. ระยะเวลาปฏิทิน (Calendar Time) เป็นการหนดระยะเวลาที่ผ่านไปตามเวลาของปฎิทิน ซึ่งได้แก่วัน (Day) เดือน (Month) ปี (Year) ซึ่งระยะเวลาปฎิทินนี้จะเดินผ่านไปโดยไม่คำนึงถึงอากาศยานจะได้รับการใช้งานหรือไม่ กล่าวคือแม้ว่าอากาศยาน เครื่องยนต์ หรือบริภัณฑ์ ไม่ได้รับการใช้งาน ระยะเวลาปฏิทินยังคงเดินต่อไปเรื่อย ๆ จนถึงกำหนดการซ่อมบำรุงอากาศยาน หน่วยของระยะเวลาปฏิทิน 1.1 HR (Hour) คือ ระยะเวลา 1 ชั่วโมงของนาฬิกาที่ผ่านไป 1.2 DY (Day) คือ ระยะเวลา 1 วันหรือ 24 ชั่วโมงของนาฬิกาที่ผ่านไป 1.3 MO (Month) คือ ระยะเวลา 1 เดือนตามปฏิทิน หรือช่วงเวลา 30 วันนับต่อเนื่อง (30 Consecutive Days) 1.4 YE (Year) คือ ระยะเวลา 1 ปีตามปฏิทิน หรือช่วงเวลา 12 เดือนนับต่อเนื่อง (12 Consecutive Months) ลักษณะการกำหนดระยะเวลาปฏิทิน C-Check : 15 Months HVM-Check : 3 Years ตัวอย่างแรกหมายถึงอากาศยานมีกำหนดเข้ารับการซ่อมบำรุงระดับ C-Check ทุก 15 เดือน โดยไม่ว่าจะมีการใช้งานอากาศยานหรือไม่ เมื่อกำหนดครับ 15 เดือน อากาศยานต้องได้รับการซ่อมบำรุงระดับ C-Check และเมื่อดำเนินการเสร็จ จะทำการนับระยะเวลาต่อไปอีก 15 เดือนเพื่อทำ C-Check ครั้งต่อไป โดยทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะไม่ใช้งานอากาศยานหรือมีการเปลี่ยนเปลี่ยนระยะเวลาการซ่อมบำรุงระดับ C-Check ใหม่ ตัวอย่างที่ 1 มีลักษณะความหมายเหมือนกับตัวอย่างแรก โดยการทำการซ่อมบำรุงใหญ่ (Heavy Maintenance) ทุก 3 ปี โดยไม่คำนึงถึงจะมีการใช้งานอากาศยานหรือไม่ สิ่งที่สำคัญของระยะเวลาปฏิทิน คือ ระยะเวลาปฏิทินไม่เคยหยุดนิ่ง (Calendar Time never stops) ซึ่งระยะเวลาจะเดินต่อไปเรื่อย ๆ อีกทั้งระยะเวลาปฏิทินทำให้ทราบอายุการใช้งานอากาศยานอีกด้วย 2. ระยะเวลาทำงาน (Operational Time) เป็นการกำหนดหรือนับระยะเวลาตามการทำงานของอากาศยาน เครื่องยนต์ ระบบหรืออุปกรณ์ อื่น ๆ โดยเริ่มนับตั้งแต่เริ่มการทำงานจนกระทั่งจบการทำงาน โดยหากไม่มีการทำงาน จะไม่มีการนับระยะเวลา ลักษณะของระยะเวลาทำงาน ได้แก่ 2.1 Flight Hour หรือ ชั่วโมงบิน มีความหมาย 2 กรณี คือ 2.1.1 ความหมายที่พิจารณาจากการเคลื่อนที่ของอากาศยาน ชั่วโมงบิน หมายถึง การนับระยะเวลาที่อากาศยานเริ่มเคลื่อนที่โดยมีวัตถุประสงค์ในการวิ่งขึ้นเพื่อทำการบินจนกระทั่งอากาศยานหยุดสุดท้ายหลังจากการบิน ซึ่งความหมายนี้เป็นความหมายรวมใช้กับอากาศยานประเภทเครื่องบิน กรณีที่เป็นอากาศยานประเภทเฮลิคอปเตอร์ ชั่วโมงบินของเฮลิคอปเตอร์ หมายถึงการนับระยะเวลาที่ใบพัดของเฮลิคอปเตอร์เริ่มทำการหมุนจนกระทั่งเฮลิคอปเตอร์หยุดสุดท้ายเมื่อสิ้นสุดการบินและใบพัดหยุด ตามคำจำกัดความของ FARs ได้กำหนดลงรายละเอียดมากขึ้น ในประเด็นที่การขับเคลื่อนของอากาศยานนั้น ต้องเป็นการขับเคลื่อนภายใต้กำลังขับเคลื่อนของอากาศยานเอง ดังนั้นสำหรับเครื่องร่อนที่ไม่มีกำลังขับเคลื่อนของตัวเอง ชั่วโมงบิน หมายถึง การนับระยะเวลาเริ่มตั้งแต่เครื่องร่อนได้รับการลากจูงที่มีวัตถุประสงค์กำหรับการบินจนกระทั่งเครื่องร่อนหยุดหลังจากได้ลงสนามแล้ว 2.1.2 ความหมายที่พิจารณาจากการเก็บล้ออากาศยาน ชั่วโมงบิน หมายถึง การนับระยะเวลาที่อากาศยานทำการบินเมื่ออากาศยานได้มีการเก็บล้อจนกระทั่งอากาศยานกางล้อเพื่อลงสนาม ซึ่งการนับชั่วโมงบินในลักษณะนี้ มีใช้กับการซ่อมบำรุงอากาศยานจากบริษัทแอร์บัส จึงพบการกำหนดชั่วโมงบินแบบนี้ในคู่มือการซ่อมบำรุงของแอร์บัส 2.2 Flight Cycle หรือวงรอบการบิน หมายถึง การนับจำนวนรอบหรือ Cycle เมื่ออากาศยานทำการบินและได้มีการเก็บล้อจนกระทั่งอากาศยานกางล้อเพื่อลงสนาม หรือกล่าวได้อีกว่าวงรอบการบินคือจำนวนการลงสนามของอากาศยานที่ทำการบินที่สมบูรณ์ (A complete take-off and landing sequence) การนับรอบการบินนั้น มีความสำคัญมากสำหรับเครื่องบินที่มีระบบปรับความดันอากาศ (Pressurized System) เนื่องจากทำให้ทราบถึงจำนวนครั้งที่โครงสร้างอากาศยานได้รับผลจากความแตกต่างระหว่างความดันอากาศภายนอกและความดันอากาศภายในอากาศยานที่ได้รับการปรับให้เหมาะสมกับผู้โดยสาร อันทำให้สามารถวิเคราะห์ความแข็งแรงของโครงสร้างอากาศยานได้ สำหรับการนับระยะเวลาทำงานของอุปกรณ์อื่น สามารถกำหนดตามลักษณะการทำงานของ อุปกรณ์นั้น ๆ ซึ่งสามารถนับระยะเวลาตามลักษณะการทำงาน (Hour) หรือวงรอบ (Cycle) เช่น – Engine Hour หรือชั่วโมงเครื่องยนต์ หมายถึงการนับระยะเวลาการทำงานของเครื่องยนต์ที่นับตั้งแต่การสตาร์ทเครื่องยนต์จนกระทั่งการดับเครื่องยนต์สมบูรณ์ – Engine Cycle หรือวงรอบเครื่องยนต์ หมายถึงการนับจำนวนรอบการทำงานเครื่องยนต์ที่นับตั้งแต่การสตาร์ทเครื่องยนต์จนกระทั่งการดับเครื่องยนต์สมบูรณ์ – Landing Cycle คือวงรอบการลงสนาม หมายถึงการนับจำนวนรอบการเก็บล้ออากาศยานจนกระทั่งการกางล้ออากาศยาน เพื่อทำการนับจำนวนรอบที่ล้ออากาศยานได้มีการทำงาน สิ่งสำคัญของการนับระยะเวลาทำงาน คือ จะทำการนับระยะเวลาเมื่ออากาศยานหรืออุปกรณ์นั้น ๆ เมื่อมีการทำงานเกิดขึ้น หากไม่มีการใช้งานจะไม่มีการนับระยะเวลาเพิ่มขึ้น การกำหนดระยะเวลาด้านการบิน ได้มีการกำหนดในลักษณะที่มีความหมายแตกต่างกัน ดังนั้นหากต้องการทราบระยะเวลาด้านการบินที่ถูกต้องในแต่ละการทำงาน ผู้ใช้งานจะต้องศึกษาจากคู่มืออากาศยานจากบริษัทผู้ผลิตอากาศยานนั้น ๆ เนื่องจากอากาศยานมีความแตกต่างกันตามบริษัทผู้ผลิตอากาศยาน รุ่นอากาศยานและแบบอากาศยาน Number of Views: 1,045 000 Maintenance Time การซ่อมบำรุง เวลา 2017-02-07 นาวาอากาศเอก ดร.พนม อินทรัศมี